รูปแบบของการศึกษา

รายละเอียดของรูปแบบการศึกษาตามกฎหมายไทย

การจัดการศึกษาของไทยก็ยึดตามหลักสากลที่ยึดถือกันมานานซึ่งมี 3 รูปแบบใหญ่ๆ สำหรับเมืองไทยเองก็มีการกำหนดรูปแบบของการศึกษาไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตราที่ 15 ด้วย ซึ่งรายละเอียดของรูปแบบการศึกษาตามกฎหมายไทยนั้นมีดังนี้

1. การศึกษาในระบบ (Formal Education)

หมายถึงการศึกษาที่มีการกำหนดจุดมุ่งหมาย สร้างหลักสูตรชัดเจน มีวิธีการศึกษาที่เป็นบรรทัดฐาน มีกรอบระยะเวลาของการศึกษา ตลอดจนมีการประเมินผลการศึกษาด้วย ซึ่งนั่นถือเป็นเงื่อนไขในการสำเร็จการศึกษาที่มีมาตรฐานแน่นอน การจัดการศึกษาในลักษณะนี้ก็ได้แก่ การศึกษาขั้นพื้นฐาน, การศึกษาภาคบังคับ, การศึกษาในสถานศึกษาสังกัดกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เป็นต้น

2.การศึกษานอกระบบ (Non-formal Education)

หมายถึงการศึกษาที่มีการยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ตลอดจนระยะเวลาของการศึกษา ไปจนถึงการวัดและประเมินผล ซึ่งนั่นเป็นเงื่อนไขในการสำเร็จการศึกษาที่มีมาตรฐานแน่นอน สำหรับเนื้อหาและหลักสูตรนั้นจะต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม หรือให้ผู้เรียนสามารถบริหารจัดการการศึกษาตลอดจนเวลาเรียนเองได้ แต่ก็ต้องมีการรับรองมาตรฐานเช่นเดียวกันกับการศึกษาในระบบ การจัดการศึกษาในลักษณะนี้ก็ได้แก่ การศึกษานอกระบบโรงเรียน, การศึกษาผู้ใหญ่, การศึกษาทางไกล, มหาวิทยาลัยเปิด, การศึกษาแบบโฮมสคูล, ศูนย์การศึกษาท้องถิ่นที่มีการจัดมาตรฐานการศึกษาของตนเอง เป็นต้น

รูปแบบของการศึกษา

3.การศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education)

หมายถึงการศึกษาที่ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรู้ได้ตามความสนใจของตัวเอง เรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพ เรียนตามความพร้อมและโอกาส ไม่มีการกำหนดเวลา ไม่มีข้อจำกัดเรื่องใดๆ มีหรือไม่มีการรับรองมาตรฐานการศึกษาก็ได้ เรียนรู้ได้ตลอดเวลา ศึกษาเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง การศึกษาตามอัธยาศัยนี้ยังรวมไปถึงประสบการณ์การทำงานที่สั่งสมจนเกิดเป็นความรู้, การแลกเปลี่ยนประสบการณ์, การพูดคุย, การศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ, การศึกษาตลอดชีวิต, การเรียนพิเศษ, การเรียนคอร์สออนไลน์ตามความสนใจ, การเข้าเวิร์คชอปต่างๆ เป็นต้น

รูปแบบการเรียนรู้

หลายคนคงสงสัยความแตกต่างระหว่าง การเรียน (Studying), การฝึกอบรม (Training) และ การเรียนรู้ (Learning) ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร อันที่จริงแล้วทั้งสามคำนี้ทั้งมีความเหมือนและแตกต่างกันอยู่ในตัว แต่ก็มีการนิยามทั้งสามคำที่ชัดเจนขึ้นเพื่อแยกลักษณะการศึกษา

การเรียน / การศึกษา (Studying) หมายถึงการศึกษาหาความรู้อย่างเป็นทางการ มีหลักสูตร องค์ความรู้ การเรียนการสอนชัดเจน เพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะให้กับผู้เรียน

การฝึกอบรม (Training) หมายถึงการปฎิบัติการในเชิงของการฝึกทักษะที่จะช่วยพัฒนาความสามารถของผู้เข้ารับการฝึกอบรมให้ดีขึ้น การฝึกอบรมมีมักมีเป้าหมายที่แคบ เฉพาะเจาะจง ชัดเจน และเอื้อประโยชน์ต่ออาชีพตลอดจนหน้าที่ที่ผู้เข้ารับการอบรมรับผิดชอบอยู่ เป็นส่วนเสริมทักษะตลอดจนองค์ความรู้ให้เพิ่มขึ้น

การเรียนรู้ (Learning) หมายถึงการเพิ่มเติมองค์ความรู้ สั่งสมประสบการณ์ ตลอดจนพัฒนาทักษะจากประสบการณ์ชีวิตตั้งแต่การทำงานไปจนถึงการใช้ชีวิต ที่มีทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีทั้งแบบลงเรียนและแบบซึมซับมาโดยไม่ตั้งใจ การเรียนรู้นั้นบางครั้งก็อาจไม่เกิดประโยชน์ แต่บางครั้งก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มหาศาล การเรียนรู้มักไม่ได้เกิดจากการถูกบังคับหรือจำเป็นจะต้องรู้ต้องเรียน แต่มักเกิดจากความสนใจส่วนตัวของแต่ละคนที่ต้องการจะเรียนรู้ในสิ่งนั้นๆ

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ nbulitera.com

Releated