การทำการตลาดบนสื่อสังคมออนไลน์

สื่อสังคมออนไลน์ เครื่องมือที่สำคัญของผู้ประกอบการ

สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) กลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญของผู้ประกอบการในการเพิ่มช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง และสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์มากยิ่งขึ้น ด้วยข้อดีของสื่อสังคมออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ในจำนวนมาก สามารถโต้ตอบกันได้ทันที รู้ฟีดแบ็กของสินค้าว่าเป็นเช่นไร จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ประกอบการในยุคปัจจุบันไม่ควรมองข้ามการทำการตลาดบนสื่อสังคมออนไลน์

สื่อสังคมออนไลน์มีหลากหลายแพลตฟอร์ม ซึ่งผู้ประกอบควรคิดให้ถี่ถ้วนว่าควรนำเสนอเนื้อหาผ่านแพลตฟอร์มเหล่านั้นอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มจะมีวิธีในการโปรโมทสินค้าที่ขายอยู่อย่างไรให้ติดตลาดเป็นที่พูดถึงมาดูกันเลย

1. เฟซบุ๊ก (Facebook)
ผลสำรวจพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปี 2562 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) พบว่าคนไทยนิยมขายของผ่านทางเฟซบุ๊ก คิดเป็นสัดส่วนถึง 64% โดยให้เหตุผลว่าเป็นช่องทางที่ง่ายที่สุด สำหรับผู้ประกอบการและสามารถนำเสนอสินค้าด้วยวิธีการที่หลากหลาย ซึ่งแบ่งหัวข้อได้ดังต่อไปนี้

  •  สร้างความเชื่อมั่นและสร้างตัวตน ด้วยการหมั่นโพสต์รายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าบ่อย ๆ และสามารถโต้ตอบกับคนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นบนเพจของร้าน
  •  การขายสินค้าผ่านทางเฟซบุ๊กเป็นการสื่อสารด้วยการใช้ตัวอักษรเป็นส่วนใหญ่ จึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องของบทความเป็นอย่างมากว่าจะมีวิธีการนำเสนออย่างไรให้น่าดึงดูดใจลูกค้า อาจจะเขียนอธิบายว่าสินค้าที่ขายจะช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้อย่างไร หรือสินค้าจะช่วยเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าอย่างไรบ้าง แะเทคนิคของการเขียนนั้นควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ใส่ความเป็นกันเอง หรือจะคิดคำใหม่ ๆ ให้ดูน่าติดตาม
  •  รูปภาพสินค้าที่ใช้ประกอบก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน รูปภาพสินค้าควรมีความใกล้เคียงกับสินค้าจริงมากที่สุด เพื่อป้องกันเรื่องร้องเรียนจากลูกค้าที่จะสร้างความเสียหายให้กับแบรนด์ตามมาภายหลังได้และ อย่าลืมใส่โลโก้แบรนด์ หรือลายน้ำเข้าไปในรูปภาพด้วย จะได้เป็นการสร้างรับรู้ว่าเป็นสินค้าจากแบรนด์ของเรา
  •  ลองใช้เฟซบุ๊ก มาร์เก็ตเพลส (Facebook Marketplace) พื้นที่ให้โพสต์ขายสินค้าได้แบบฟรี ๆ หรือลองสร้างกลุ่มขึ้นมาเพื่อให้สมาชิกสามารถรับรู้เรื่องราวของสินค้าที่ขายอยู่โดยตรง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
  •  อย่าลืมจัดโปรโมชั่น โดยอาจจะมอบส่วนลดให้กับลูกค้ารายใหม่ เมื่อซื้อสินค้าตามราคาที่กำหนด รวมถึงการแชร์โพสต์โปรโมชั่นเพื่อรับส่วนลดพิเศษ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ตรงที่เป็นการโปรโมทสินค้าให้ผู้อื่นที่ยังไม่รู้จักแบรนด์ได้เห็น

การทำการตลาดบนสื่อสังคมออนไลน์

2. ยูทูป (YouTube)
แพลตฟอร์มที่นำเสนอเนื้อหาในรูปแบบวิดีโอ มีแนวโน้มที่จะถูกนำมาใช้เพื่อโปรโมทสินค้ามากขึ้น ยังมีข้อมูลว่ากลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ระบุว่าการทำวิดีโอช่วยให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และมีแนวโน้มที่จะมาเป็นลูกค้าของร้านในที่สุด ผู้ประกอบการสามารถใช้ไอเดียสร้าเนื้อหาวิดีโอคุณภาพขึ้นมาที่มีความสอดคล้องกับสินค้า ดังต่อไปนี้

  •  ทำวิดีโอรีวิวสินค้า เป็นการโฆษณาสินค้าอีกทางหนึ่งให้กับกลุ่มผู้ที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของแบรนด์ให้รู้จักกับสินค้า เพื่อเพิ่มโอกาสให้พวกเขาเหล่านี้ได้กลายมาเป็นลูกค้าต่อไปในอนาคต
  •  หากเป็นสินค้าที่ต้องมีขั้นตอนการใช้งานที่ซับซ้อน เช่น เครื่องมือเกี่ยวกับเทคโนโลยี การทำวิดีโอวิธีสอนการใช้งานก็จะช่วยให้ลูกค้าเข้าใจขั้นตอนได้ง่ายขึ้น
  •  ทำวิดีโอถาม-ตอบเกี่ยวกับสินค้า รวบรวมคำถามที่มักเจอบ่อยเวลาขายสินค้า มาทำวิดีโอเพื่อคลายข้อสงสัยให้กับลูกค้า

3. อินสตาแกรม (Instagram)
แพลตฟอร์มที่มีจุดเด่นในเรื่องการนำเสนอรูปภาพที่สวยงาม เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับผู้ประกอบการที่จะขายสินค้า โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่น เครื่องประดับ ที่เน้นความสวยงามของสินค้าเป็นหลัก ข้อควรรู้สำหรับผู้ประกอบการที่จะขายสินค้าผ่านอินสตาแกรม คือ

  •  ควรเลือกสมัครบัญชีประเภทธุรกิจ ซึ่งออกแบบมาเพื่อขายสินค้าโดยเฉพาะ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีสถิติวิเคราะห์ เช่น จำนวนคนติดตาม, จำนวนคนเข้าถึงโพสต์, จำนวนครั้งที่มีการโพสต์ ให้ผู้ประกอบการนำไปพัฒนาในด้านงานขายให้ดียิ่งขึ้น
  •  ควรให้ความสำคัญกับความสวยงามของรูปภาพเป็นที่สุด จัดวางตำแหน่งของสินค้าให้ดูโดดเด่น เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้ที่มักจะสะดุดตาดูรูปภาพที่มีความสวยงาม
  •  สร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า เช่น เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าไปแล้วให้ถ่ายรูปพร้อมกับติดแท็กของแบรนด์ ซึ่งเปรียบเสมือนกับการรีวิวสินค้า สร้างการรับรู้ให้เป็นที่รู้จักกับผู้พบเห็น หากสินค้าถูกใจพวกเขาก็จะกดเข้ามาตรงแท็กเพื่อเข้ามาดูว่าผู้ประกอบการมีสินค้าอะไรบ้าง ซึ่งวิธีนี้เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่หลายแบรนด์ใช้กันเวลาโปรโมทสินค้าผ่านอินสตาแกรม

4. ติ๊กต็อก (TikTok)
แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่กำลังมาแรงทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งล่าสุดมีบริการใหม่ที่เรียกว่า ติ๊กต็อกเพื่อธุรกิจ (TikTok For Business) สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง สามารถโปรโมทสินค้าสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ไปยังกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

  •  ติ๊กต็อกถูกออกแบบมาเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งเหมาะกับการทำการตลาดของผู้ประกอบการที่จะสร้างสรรค์ไอเดียตามแบบฉบับของตัวเอง
  •  ด้วยความที่เป็นแพลตฟอร์มด้านความบันเทิง วิดีโอที่ทำออกมานั้นต้องมีความไม่เหมือนใคร โดยอาจจะนำลูกเล่นที่มีของติ๊กต็อก เช่น การร้องเพลง การเต้นตามจังหวะเพลง หรือการลิปซิงบทสนทนา มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
  •  การสร้างชาเลนจ์เพื่อให้ผู้ใช้คนอื่นทำตาม โดยอาจจะสอดแทรกสินค้าเข้าไปเพื่อโปรโมท ช่วยสร้างการรับรู้ออกไปในวงกว้าง

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ nbulitera.com

Releated